DotProperty.co.th

Peer-to-Peer Lending: กู้เพียวๆ ม้วนเดียวจบ! (ตอนที่ 2)

จากตอนที่แล้วที่เราได้เกริ่นนำเกี่ยวกับระบบสินเชื่อและการกู้ยืมแบบ Peer-to-Peer Lending อันเป็นนวัตกรรมใหม่ทางด้านสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงิน ภายใต้ความก้าวหน้าของการสื่อสารและโลกแห่ง Social Media โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศกันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จะมากหรือน้อย มันยังคงมีสิ่งที่น่ากังขาสำหรับระบบสินเชื่อแบบ ‘ทำมือ’ ที่เป็นปัจจัยไม่ให้ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่ามันจะมีข้อดีที่น่าสนใจอยู่มากสักเพียงใดก็ตาม

//ความไม่ยืดหยุ่นของ Peer-to-Peer Lending

แม้ว่าระบบ Peer-to-Peer Lending ของต่างประเทศ จะอ้างอิงจากมาตรฐานการตรวจสอบเครดิตของผู้ขอกู้ยืมเงินผ่านมาตรวัดต่างๆ อาทิ FICO Rating หรือการหมุนเวียนบัญชีและหนี้บัตรเครดิตจากธนาคารหลักที่เชื่อถือได้ แต่เกิดขึ้นตามการตกลงระหว่างผู้ยืมและผู้ให้ยืม นั่นอาจจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ขอกู้ยืมที่มีปัญหาด้านเครดิตอยู่แต่เดิม (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล หรือสถานะใด) ที่อาจจะไม่น่ามีความน่าดึงดูดสำหรับผู้ให้กู้ยืม ที่จะให้การลงทุนผ่านเงินกู้ และลืมไปได้เลยเรื่องใช้สินทรัพย์มาค้ำประกัน เพราะเมื่อไม่มีสื่อกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ที่มีทุนสำรองเพียงพอ นี่จึงเป็นธุรกรรมแบบมือต่อมือขนานแท้ที่ต้อง ‘ตาดีได้ ตาร้ายเสีย’ กันอย่างเดียว

Credits: totalmortgage.com

ในด้านของผู้ให้กู้ยืมเองก็ใช่ว่าจะนอนใจ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือการขาดสื่อกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ การกำหนดดอกเบี้ยจึงไม่ได้ขึ้นตามเงื่อนไขกลไกทางการเงินในแบบปกติ แต่จะใช้การ Reverse-Bidding ที่มุ่งเสนอเงื่อนไขดอกเบี้ยเงินกู้ที่น่าสนใจที่สัมพันธ์กับจำนวนเงินที่ผู้กู้ยืมต้องการ และแม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ผลตอบแทนในตอนท้ายก็ยากนักที่จะบอกว่า นี่คือการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าจนสามารถจับเป็นแนวทางหลักได้

//Peer-to-Peer Lending กับประเทศไทย…

ถ้าให้สรุปกันแบบกำปั้นทุบดินแล้วนั้น ยากนักที่ระบบ Peer-to-Peer Lending จะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทย จากข้อกฎหมายที่ยังไม่ได้ครอบคลุมแนวทางของระบบดังกล่าว ที่มีความเสี่ยงที่จะกลายสภาพเป็นเงินกู้นอกระบบที่เราเห็นกันเกลื่อนกลาดอยู่ในปัจจุบัน หรือกลายเป็นสถานการณ์แบบ ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ ที่อาจจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของเงินต้องหงายเอาได้ง่ายๆ และแม้ว่า ประมวลกฏหมายแพ่งฯ มาตรา 654 จะกำหนดให้ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบไม่เกินร้อยละ 15 แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าระบบ Peer-to-Peer Lending จะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายในทางปฏิบัติ (และอย่างที่ทราบ ในหลายต่อหลายกรณี มันต้องใช้เวลาไม่น้อยที่กฎหมายหนึ่งๆ จะสามารถตามความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ทัน ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น…)

Credits: dhcz.com

แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์ ในการมาถึงของระบบหรือแนวคิดใหม่ๆ นั้นคือ มันไม่เคยรอเวลาให้มีการ ‘กำกับ’ อย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีใครสักคนเริ่มต้นใช้มัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…กับเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับปากท้องเช่น Peer-to-Peer Lending นี้ และเราอาจจะได้เห็นระบบนี้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้